ไม่ต้องทำงานที่รักก็ได้ แต่อย่าได้ทำงานที่เกลียดเป็นอันขาด
EP นี้ขอถอยกลับมาก่อนที่จะถึงขั้นตอนสัมภาษณ์ซักนิดนะครับ ไม่อยากให้ Candidate ต้องไปสัมภาษณ์ในงานที่เกลียด พูดถึงงานที่รัก เวลาเราสำรวจความคิดเห็น หรือสภาพที่เป็นไปในสังคม Social รอบๆ ตัวเรา เรามักจะเจอประโยคประชดประชันเช่น “ไปทำงานที่เรารักกันเถอะ” สำหรับเพื่อนกลุ่มหนึ่ง และบ่นอย่างตรงไปตรงมา หม่นหมองประคองอารมณ์ตลอดเวลาที่ต้องทำงาน ดูแล้วโลกนี้น่าเบื่อแสนทน ชีวิตอมทุกข์สุดๆ ในอีกกลุ่มหนึ่ง แต่หาได้น้อยมากหรือบางครั้งเราไม่เคยเจอเลยในกลุ่มที่จะบอกว่า “ฉันรักงานนี้ของฉันจริงๆ”
ว่าแล้วก็นึกไปถึง ประโยคที่คุณชัชชาติ กล่าวไว้ว่า (ซึ่งไม่แน่ใจว่ากล่าวจริงหรือไม่ แต่กระตุกภาวะฉุกคิดได้ดีมากๆ) “ปริมาณงานที่จะตรงกับ Passion ในตลาดมันไม่ได้มีรองรับเพียงพอสำหรับทุกคน เราแค่ทำงานที่เราทำได้ แล้วไปหา Passion นอกงานจะดีกว่า” น่าจะเป็นคำตอบให้ใครหลายๆคน สำหรับคำถามว่า ทำไมไม่มีงานที่เหมาะสมสำหรับฉันเสียที
ก่อนอื่นที่เราจะตัดสินใจว่า เราเกลียดหรือรักงานไหน เราต้องแยกให้ชัดเจนกับเรื่องนี้เสียก่อน เพราะนอกจากความรักความเกลียดแล้ว มันยังมีองค์ประกอบร่วมด้านอารมณ์ เช่น ความเบื่อหน่าย ความหงุดหงิดใจ แม้กระทั่งความขี้เกียจ รวมถึงปัญหาในการทำงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จนมันผสมปนเปไปกันหมด จนเราแยกแยะไม่ออกว่า อันนี้คือเราขี้เกียจ เราเบื่อ หรือเราเกลียดงานนี้จริงๆ
โดยธรรมชาติของทุกตำแหน่งงาน ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในสายงานประเภทการผลิตแบบทำงานซ้ำๆ เดิมๆ ประเภท ยืนอยู่กับที่แล้วสับหัวปลายัดใส่กระป๋อง ให้ไวที่สุด แม่นที่สุดแล้วนั้น งานโดยส่วนมาก (หรือแทบจะทั้งหมด) มักจะประกอบไปด้วยหลายศาสตร์หลายศิลป์ที่มาประกอบกัน คุณมักจะทำต้องกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อให้เป้าหมายของการทำงานนั้นสำเร็จลุล่วง เช่น งานออกแบบกระบวนการ งานเอกสาร งานประสานงาน งานคิด งานที่ต้องลงมือทำ นี่อาจจะรวมไปถึง งานตัดกระดาษ งานทำโปสเตอร์เล็กๆ ด้วยนะครับ ต้องบอกก่อนว่านี่เป็นเรื่องที่ปกติมากๆ ในการทำงานสมัยนี้ ใครที่คาดหวังงานหน้าเดียวแบบบริสุทธิ์ ไม่มีอย่างอื่นผสมเลย อาจจะหาไม่เจอในมหาสมุทรของการทำงานนี้ก็เป็นได้ (หากใครมี Share ข้อมูลกันหน่อยนะครับ)
เรามาทำความเข้าใจกันว่างานที่เกลียดเป็นยังไง พนักงานส่วนใหญ่ก็จะพบว่างานรวมๆ ที่เราต้องรับผิดชอบนั้น มีบางอย่างที่ถูกจริต และบางอย่างที่เราหงุดหงิดไม่ชอบใจเป็นอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น คุณเป็น Project Manager ที่ชื่นชอบการคิด Project ออกแบบ Timeline จัดสรรและแบ่งงานให้กับลูกทีม แต่คุณรู้สึกเบื่อหน่ายทุกครั้งที่ต้องนั่งทำ Paper ประชุม หรือเอกสารประกอบการสั่งงานต่างๆ ซึ่งจริงๆแล้ว “คุณทำได้แต่ไม่ชอบแต่ก็รู้ว่าต้องทำและพร้อมจะรีบๆ ทำให้มันจบๆ ผ่านๆ ไป” อารมณ์นี้ เราจะจัดให้อยู่ในโซน เบื่อ หรือ ขี้เกียจ นะครับ
ในขณะที่อีกงานหนึ่ง คุณเป็น HR Manager ที่ดูแลโรงงานแห่งหนึ่ง ซึ่งต้องมีการตักเตือนวินัยพนักงานเป็นประจำอยู่ในแทบทุกๆ สัปดาห์ หรือแย่หน่อยก็ไปถึงการเลิกจ้าง คุณพบว่า ทุกครั้งที่คุณปฏิบัติหน้าที่นี้ คุณสามารถทำมันด้วยดี แต่หลังจากปฏิบัติหน้าที่เสร็จ คุณไม่สามารถทำงานอื่นต่อได้ เกิดความรู้สึกสงสาร รู้สึกผิด เสียใจ และหม่นหมองไปหลายวัน จินตนาการไปถึงว่า เราคือผู้ทำลายชีวิตเขาหรือเปล่า ครอบครัวเขาจะอยู่อย่างไร ทำไมเราเป็นคนเลวร้ายแบบนี้ และอยากจะหลีกเลี่ยงหน้าที่งานนี้เหลือเกิน แต่ก็คงจะทำไม่ได้ ทำให้รู้สึกจิตใจหม่นหมองและห่อเหี่ยวตลอดเวลา งานที่สร้างความรู้สึกในโซนนี้ ผมถือว่าเป็นงานที่เราเกลียดนะครับ เพราะมันส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพจิตใจ จะทำให้เราเป็นโรคซึมเศร้าได้
ถ้าบังเอิญว่างานที่คุณกำลังทำอยู่ไม่มีโซนงานที่เกลียดเข้ามาเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบเลย ถือว่าคุณโชคดีมากๆ นะครับ แต่ถ้ามีงานที่เกลียดเข้ามาบ้างเป็นบางครั้ง นานๆ ที ที่พอผ่านไปแล้ว เราสามารถจะเยียวยาสภาพจิตใจของเราให้ฟื้นกลับมาได้โดยใช้เวลาไม่นานนักก็ถือได้ว่า “เราคือเพื่อนกัน” โดยปกติ คนหลายๆ คนก็มีสภาวะแบบนี้อยู่บ่อยๆ แต่ต้องสังเกตุว่า งานที่เกลียดไม่ได้มาบ่อยครั้งเกินไปนะครับ เพราะจะนำพาเราไปสู่ความซึมเศร้าได้เช่นกัน
ส่วนโซนเบื่อ และขี้เกียจนั้น…เป็นเรื่องปกติมากๆ ที่จะพบเจอตลอดเวลา วิธีการจัดการก็คือ พัฒนากระบวนการทำงาน ให้สามารถลด ละ เลิก ขั้นตอนที่น่าเบื่อ และน่าขี้เกียจเหล่านี้ หรือมองกระจกแล้วบอกตัวเองว่า “เฮ๊ยยยย มันคือหน้าที่และความรับผิดชอบ อดทนอีกหน่อยนะ จะเสร็จแล้ว” ก็จะพอเยียวยา และออกไปหาของอร่อยๆ ทานสักมื้อ ก็จะช่วยให้เราสดชื่นขี้นได้
สิ่งที่ต้องระวังคือ เราต้องวิเคราะห์ดีๆ ว่า เราเกลียดอะไร (ซึ่งหมายถึงสิ่งที่เราไม่สามารถทนกับมันได้) กับ เราเบื่อหรือไม่ชอบอะไร (ที่แปลว่า ทำได้แต่อย่าเยอะไป) และใช้มันเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาเลือกงานที่เราเหมาะสมด้วย ผมเคยเจอ Candidate ที่มีความสามารถ แต่มีเรื่องที่เบื่อหรือไม่ชอบเต็มไปหมด แล้วยังยืนยันว่าไม่อยากจะทำมันอีกต่อไป แม้จะไม่ได้เกลียดแต่ไม่อยากทำงานเหล่านั้น ซึ่งท้ายที่สุดเราก็ไม่ได้ร่วมงานกัน เพราะผมคิดแล้วว่า เราไม่มีงานที่จะเป็นงานหน้าเดียวขนาดนั้นให้กับ Candidate ได้ เลยไม่อยากให้เขาต้องรู้สึกหงุดหงิดใจเมื่อต้องทำงานที่เขาไม่ชอบ
เรื่องนี้เองก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่พวกเราเหล่า Recruiter ให้ความสำคัญนะครับ ดังนั้น ก่อนที่คุณจะสมัครงานอะไร ต้องทำความเข้าใจตัวเองดีๆ แล้วเลือกงานที่คุณไม่เกลียด คุณไม่ต้องรักงานที่สมัครก็ได้ครับ แต่ขอย้ำว่า อย่าสมัครงานที่เกลียด!!! ไม่ต้องรู้สึกผิดบาปนะครับ คุณเกลียดงานบางอย่างที่ทำร้ายคุณได้ครับ สุดท้ายแล้วอย่าสมัครงานที่คุณเกลียดนะครับ 8 ชั่วโมงต่อวัน มันทรมานมากๆ ที่สำคัญมันเสียเวลาทั้งคุณเองและ Recruiter ด้วยนะครับ
Tips 1 : ลองพิจารณาย้อนกลับว่า ที่ผ่านมามีงานอะไร รูปแบบไหน หรือกิจกรรมใดในงานนั้น ที่ทำให้เรารู้สึกทนทุกข์ทรมาน หม่นหมอง หดหู่ ที่จะต้องไปรับผิดชอบหรือทำงานนั้น และจะยอดเยี่ยมมากขึ้นถ้าคุณสามารถบอกตัวเองได้ว่า สัดส่วนของปริมาณงานนั้นมีในชีวิตการทำงานของคุณได้มากแค่ไหนที่จะทำให้คุณทำมันได้อย่างไม่กระทบกับจิตใจของคุณ แล้วเอาเรื่องนี้พูดคุยกับผู้สัมภาษณ์ จะทำให้คุณตัดสินใจได้ดีขึ้นว่างานนั้นเหมาะสมกับคุณหรือไม่
Tips 2 : หลุมพรางที่สำคัญคือ ระมัดระวังการเอาความขี้เกียจของคุณไปเป็นเงื่อนไขการทำงาน ที่คุณควรจะทำ เป็นหน้าที่คุณ และไม่ได้เดือดร้อน หรือลำบากใดๆ แต่เป็นแค่ความขี้เกียจ เพราะปัจจัยเหล่านี้ อาจทำให้คุณพลาดงานที่ดีได้
ขอให้ทุกคนได้งานที่เหมาะกับคุณนะครับ
รักทุกคนเสมอครับ
www.peopleone.co.th
Tel : 02-661-7797
E-mail : info@peopleone.co.th