Interviewer คาดหวังอะไรจากการให้ Candidate แนะนำตนเอง
จุดเริ่มต้นบทสนทนาของการสัมภาษณ์งานแต่ละที่ ที่ทุกคนน่าจะคุ้นชินและพบเจอกันเป็นปกติมากๆ น่าจะไม่พ้น การแนะนำตัวเองใช่ไหมครับ?
ถ้าเราจะพูดว่า Golden time ของการแนะนำตนเองในช่วง 3 นาทีแรกเป็นการตัดสินชี้ชะตาว่า เราจะได้งานหรือไม่ได้งานก็ไม่น่าจะผิด ถึงไม่ใช่ตัวตันสิน 100% แต่ก็บอกได้ว่า เกินกว่า 50% นี่เราก็เริ่มให้คะแนนกันตรงนี้หละครับ
Google เคยกล่าวว่า Manager ของเขาจำนวนไม่น้อย ตัดสินใจรับหรือไม่รับ Candidate ในช่วงเวลาไม่กี่นาทีแรก หลังจากนั้นการสัมภาษณ์จะเป็นตัวตอกย้ำความมั่นใจว่าที่ตั้งสมมติฐานไว้นั้น ถูกต้องหรือไม่
ดังนั้นถ้าเราจะบอกว่า การเริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่งก็ไม่น่าจะผิดใช่ไหมครับ
วันนี้มาทำความเข้าใจกันว่า Interviewer คาดหวังอะไรจากคำว่า “แนะนำตัวเอง” และผู้สัมภาษณ์ได้อะไรจากการตอบคำถามนี้ของพวกเราบ้างครับ ที่สำคัญเราควรให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนั้นสักเท่าไหร่ดี
อันที่จริง การเริ่มต้นแนะนำตนเองควรมีระยะเวลา 3 – 5 นาที ตามความเหมาะสม อารมณ์ และบรรยากาศในห้องสัมภาษณ์ Candidate จำเป็นต้องสังเกตสีหน้าท่าทาง หรือแววตา Interviewer ว่าดูให้ความสนใจเรื่องราวอะไรของเราเป็นพิเศษ เราอาจจะขยี้รายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องนั้นอีกซักหน่อยเพื่อเพิ่มความประทับใจ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีหลักการตายตัวแต่สามารถเอาไปปรับใช้ได้ พร้อมแล้วก็ไปดูเรื่องที่ควรจะพูดกันเลย!!!
เรื่องที่ควรจะพูด
1. ข้อมูลพื้นฐานทั่วๆ ไป ชื่อเล่น บ้านเกิด จบการศึกษาที่ไหนมา พักอยู่ย่านไหน อันที่จริงข้อมูลเหล่านี้มีอยู่ใน CV อยู่แล้วครับ^^ แต่การเริ่มต้นด้วยข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ เป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในการเริ่มบทสนทนา ไม่หุนหันพลันแล่นจะโฆษณาตัวเองอย่างโจ่งแจ้งเกินไป เราควรเริ่มต้นด้วยข้อมูลที่ไม่ยืดยาวมากเกินไปนัก แค่ให้สามารถเรียกขานกันเบื้องต้นได้ถูกต้อง เช่น “สวัสดีค่ะชื่อสมใจ ไปเบตง เรียกว่า พิ้งกี้ก็ได้ค่ะ จบ ปริญญาตรีสาขาการจัดการจากมหาวิทยาลัยหมีน้อยมาค่ะ ปัจจุบันพักอยู่ ห้วยขวาง ใกล้ๆที่นี่เลยค่ะ”
เพียงเท่านี้ก็เพียงพอสำหรับข้อมูลพื้นฐานที่ผู้สัมภาษณ์อยากรู้แล้วครับ ไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดถึงบ้านเกิด คุณพ่อ คุณแม่ ครอบครัว งานอดิเรกต่างๆ หากผู้สัมภาษณ์อยากรู้เรื่องราวเหล่านั้นเขาจะถามเพิ่มเติมเองครับ เว้นแต่เรื่องนั้นจะมีนัยยะสำคัญสำหรับตัวคุณซึ่งจะพูดถึงในข้อถัดๆ ไปนะครับ
วัตถุประสงค์ >> รู้จักผู้สมัครเบื้องต้นและสามารถเรียกขานชื่อกันได้อย่างถูกต้อง
2. ประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องและโดดเด่น ข้อมูลเหล่านี้ก็มีอยู่ใน CV เหมือนกันครับแต่สิ่งที่จะทำให้คุณโดดเด่นมากขึ้นคือการ เลือกประสบการณ์ที่เด็ดดวงของคุณเอามานำเสนออย่างมีชั้นเชิง ซึ่งส่วนนี้เราควรให้ความสำคัญที่สุดครับ ปกติแล้ว สมาธิและการจดจำของคนจดจ่ออยู่ได้ไม่นานและจำได้ไม่เยอะ ดังนั้น ผมแนะนำว่า 1 – 2 งาน “ที่ตรงกับตำแหน่งที่สมัคร” ก็เพียงพอแล้วครับ เรื่องที่คุณควรจะเล่าคือ งานนั้นคืองานอะไร ได้รับผิดชอบเรื่องอะไร และผลงานของคุณเป็นอย่างไร ความยาก อุปสรรค และวิธีการจัดการของคุณที่ทำให้มันออกมาดีคืออะไร เพียงเท่านี้ก็น่าดึงดูดมากพอที่จะบอกได้ว่าคุณเหมาะสมกับงานที่กำลังเปิดรับสมัครขนาดไหน
แม้ว่ามันจะดูเหมือนง่ายแต่การเล่าเรื่องที่มีคุณค่านี้ให้ผู้สัมภาษณ์ฟังอย่างประทับใจ ต้องผ่านการเตรียมตัว คิด และเรียบเรียงให้ดีนะครับ ก่อนอื่นเลยคุณต้องทำการบ้านให้ดีว่า ตำแหน่งที่เปิดรับสมัครอยู่นั้น เป็นงานอะไร และคาดว่าจะได้รับมอบหมายอะไร ต้องออกแบบและลองจินตนาการดูว่า หากเราสลับหน้าที่กัน เป็น Interviewer เราคาดหวังว่า Candidate ที่เราต้องการรับมาทำงานนั้นต้องมีคุณสมบัติอย่างไร คิดออกมาให้เป็นภาพที่ชัดเจน แล้วเอาตัวเราสวมเข้าไปครับว่า ประสบการณ์ของเราที่ผ่านมานั้น สอดคล้องและเหมาะสมกับคนที่องค์กรกำลังตามหาอย่างไร อย่าลืมตบท้ายด้วยการขมวดปมด้วยความเชี่ยวชาญของคุณตอกย้ำให้ Interviewer จำได้แม่นๆ นะครับ เช่น “ผมเชี่ยวชาญเรื่องการบริหารทีมงานที่มีความหลากหลาย ผมมีลูกน้องมากกว่า ยี่สิบคนในแต่ละช่วงวัยที่ต่างกัน ตั้งแต่น้องๆจบใหม่ ถึงซีเนียร์อายุเกิน 50 ปี หน้าที่สำคัญของผมคือ ทำให้ทุกคนร่วมงานกันได้อย่างมีความสุขและเกิดประสิทธิภาพ ซึ่งผลสำเร็จของทีมงานเป็นไปได้ด้วยดี ผมจึงมั่นใจว่า ผมบริหารทีมงานที่มีความหลากหลายได้อย่างดีเยี่ยมครับ”
สำหรับน้องๆ ที่จบการศึกษาใหม่ก็ใช้กิจกรรมและผลงานในมหาวิทยาลัยที่ผ่านมานั่นหละครับ เป็นตัวเล่าเรื่องได้เช่นเดียวกัน
วัตถุประสงค์ >> เพื่อค้นหาสมรรถนะ ของผู้สมัคร และความโดดเด่นที่จะเหมาะสมกับงานและหน้าที่ที่องค์กรกำลังมองหา
3. ตัวตนของคุณ ในหัวข้อนี้เราอาจจะไม่ได้ใส่ใน CV เพราะมันเป็นเรื่องยากที่อยู่ๆ จะยัดเยียดลงในรายละเอียดที่เป็นทางการ ถ้าผมสรุปง่ายๆ ผมคิดว่าหัวข้อนี้เราควรเล่าว่า เราชอบอะไร และไม่ชอบอะไร แน่นอนว่า สิ่งที่เราชอบไม่ควรเป็นข้าวมันไก่ หรือไม่ชอบข้าวขาหมูนะครับ สิ่งที่เราชอบหรือไม่ชอบที่ควรเลือกมาเล่าควรจะเป็นตัวตนของเราที่มีนัยยะสำคัญและจะส่งผลกระทบต่อหน้าที่ การทำงาน หรือการอยู่ร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น “ผมเป็นคนชอบทำงานเป็นทีมครับ จะมีความกระตือรือร้น มุ่งมั่นและสนุกสนานมากเมื่อได้ทำงานกับเพื่อนร่วมทีมที่มี Passion เหมือนกัน แต่จะห่อเหี่ยวมากๆ เวลาต้องทำงานเงียบๆ คนเดียว รู้สึกเหมือนโลกมันเงียบและจะทำให้ไม่สดชื่นในการทำงาน” หรือ “ผมเป็นคน ชอบช่วยเหลือคนอื่น แต่ไม่ชอบมากๆ กับการถูกเอาเปรียบ เช่น เป็นงานที่ตนเองต้องรับผิดชอบแต่เห็นผมยินดีที่จะช่วยก็จะมาไหว้วานให้ทำโดยที่ตัวเองไม่ต้องทำ”
รักทุกคนเสมอครับ
www.peopleone.co.th
Tel : 02-661-7797
E-mail : info@peopleone.co.th