รับมืออย่างไร…ในวันที่ลูกน้องอกหัก
…โตแล้วทำไมไม่รู้จักแยกแยะ ไม่ใช่ว่าอกหักแล้วปล่อยให้งานเละเทะแบบนี้ ไม่มีความรับผิดชอบ
(งื้ออออ….เจ็บ แฟนก็ทิ้งแถมหัวหน้ายังด่าอีก) ….ผมขอลาออกครับ
หนึ่งในเรื่องราวที่ มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ หัวหน้างานที่ต้องรับมือกับสถานการณ์อกหักของน้องในทีม ได้ข้อสรุปคล้ายๆ ก้นคือ “อกหักไม่ใช่เรื่องเล็ก” จากที่บางคนเป็นดาวรุ่ง ต้องกลับกลายเป็นดาวดับ ลาออกแยกย้ายกันไปก็มี
น้องใหม่ในทีมงานของพวกเรา มักจะเป็นวัยรุ่นที่อาจจะเพิ่งจบการศึกษาจากรั้วมหาลัยมาหมาดๆ หรือไม่ก็เป็นวัยรุ่นตอนปลายที่ถึงช่วงเตรียมจะแต่งงานมีครอบครัวกัน (ถ้าหากใครเลยวัยแต่งงานมีลูกสองไปแล้ว ขอให้อดทนเงียบไว้นะครับ:D)
ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรแม้แต่น้อยที่แต่ละคนจะให้ความสนใจกับความรักในช่วงเริ่มต้นวัยทำงานหรือช่วงรักผลิบานเตรียมจะพัฒนาไปสู่การลงหลักปักฐานมีครอบครัวกัน ก็เลยจะจริงจังมากเป็นพิเศษ บางคนไปรับไปส่งกันที่ทำงาน หรือนัดเจอกันทุกเย็นเพื่อที่จะชวนกินข้าวมื้อค่ำ บำรุงต้นรักให้เติบโต
แต่ต้นรักหลายๆ ต้นก็มีเหตุต้องเฉาลง ด้วยปัจจัยแวดล้อมมากมายที่ไม่ใช่โลกที่มีเราเพียงสองคนเหมือนในรั้วมหาลัย ความเดือดร้อนก็หลีกหนีใครไปไม่พ้นนอกจากหัวหน้างานนี่หละครับ ที่จะต้องเข้ามารับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
6 Steps รับมืออย่างไร…ในวันที่ลูกน้องอกหัก
1. ตั้งสติ เพราะเราไม่ได้จับฉลากได้ตำแหน่งหัวหน้ามา ดังนั้น ทุกๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นในทีม ได้ถูกจัดสรรมาแล้วว่า “เราคือผู้ที่ถูกเลือกเพื่อแก้ปัญหานั้น” หัวหน้าที่ดี จำเป็นต้องตั้งสติและพิจารณาสถานการณ์เสียก่อนว่า “ปัญหาอกหัก” ของลูกน้องเรานั้น รุนแรงกี่ริกเตอร์ ซึ่งบอกได้เลยว่า อาจจะเป็นแค่เรื่องหยุมหยิมกวนใจ หรือ อาจจะเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกาวินาศ ก็เป็นได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องแยกแยะระดับความรุนแรงให้ได้เสียก่อน
2. เป็นผู้ฟังที่ดี ห้ามตัดสินโดยเด็ดขาดไม่ว่าลูกน้องเราจะผิดรุนแรงหรือถูกขนาดไหน อย่าลืมว่า โบราณบอกไว้ว่า “อย่ายุ่งเรื่องผัวเมีย” ยังคงเป็นความจริงเสมอ สิ่งสำคัญที่เราต้องทำคือ “เยียวยาจิตใจ” ลูกน้องของเรา “ด้วยการรับฟัง” ให้เขาได้เล่า ได้อธิบาย ได้บอกเรื่องราวที่อัดอั้นของตัวเองออกมา เราสามารถเริ่มต้นคำถามง่ายๆ เช่น “เป็นยังไงบ้าง ไม่สบายใจอะไรหรือเปล่า เล่าให้พี่ฟังได้นะ” และแน่นอนว่าอย่าไปกดดันหรือแสดงออกโดยเด็ดขาดว่า คุณรู้เรื่องราวของเขา จากเพื่อนพนักงานของคุณแล้ว เมื่อเขารู้สึกปลอดภัยและสบายใจ เขาจะเล่าให้คุณฟังเอง
3. อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ หลายคนโดนปิดประตูใส่และลาจากกันไป เพราะว่า “โดนมองว่าปัญหาของเขาไม่สำคัญ” อย่าลืมว่าทุกคนไม่ได้เจอปัญหาแบบเดียวกัน การถูกหล่อหลอมให้รับมือก็ต่างกันออกไป ดังนั้นเราต้องมองปัญหาในมุมมองของเขา ไม่ใช่บอกว่า เรามองปัญหานี้อย่างไร บางคนคบกันมาตั้งแต่มหาลัย ตั้งใจจะแต่งงานถึงขั้นเตรียมไปสู่ขอ โดนหักอกกันที ย่อมรุนแรงกว่าสาวๆ ข้างออฟฟิศ ที่เพิ่งเจอกันเมื่อสามเดือนที่แล้วอย่างแน่นอน
4. ให้กำลังใจ บอกลูกน้องของคุณว่าคุณจะอยู่เคียงข้างเขา ขอให้เขาค่อยๆ ตั้งสติและค่อยๆ คิด อย่าลืมว่ามีเพื่อนร่วมงาน มีคุณ และมีใครอีกหลายๆ คนที่พร้อมอยู่ข้างๆ เขาเสมอ และก็ไม่ผิดอะไร ถ้าคุณจะซื้อขนมปลอบใจ หรือนัดกินข้าวมื้อเย็นกับทีมงาน เพื่อทำให้เขารู้สึกไม่โดดเดี่ยว และทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียว
5. ให้เวลา หนึ่งในเรื่องสำคัญมากๆ ของการสมานแผลอกหัก คือการให้เวลา ชีวิตของทุกคน รวมถึงตัวเราเองนั้น มีช่วงเวลาที่สภาพจิตใจเบิกบาน และห่อเหี่ยว ดังนั้น อย่ามองว่าการที่พนักงานเราสักคน จะห่อเหี่ยวบ้างในช่วงอาทิตย์ สองอาทิตย์จะเป็นความผิด หน้าที่ของหัวหน้าที่ดีคือ ให้เวลาเขาได้เสียใจบ้าง และมองดูว่า งานอะไรที่จะได้รับผลกระทบ และแก้ปัญหาด้วยการจัดสรรงานให้คนที่พอจะช่วยเหลือในช่วงนี้ได้
6. อย่าลืมสอบถามเขาว่า งานที่เขารับผิดชอบอยู่ เป็นหนึ่งในสาเหตุของความร้าวฉานหรือเปล่า เข้าใจดีว่า งานเป็นสิ่งสำคัญ แต่หลายต่อหลายครั้ง เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การทำงานนอกเวลา การรับโทรศัพท์ดึกๆ ดื่นๆ หรือการประชุมด่วน แม้กระทั่งการตอบไลน์ ซึ่งนั่น อาจจะเป็นเรื่องใหญ่ของใครบางคนก็ได้ หัวหน้าที่ดี ควรทำความเข้าใจลูกน้องเช่นเดียวกันว่า มีสภาพการทำงานอันไหนของเราไหมที่อาจสร้างปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ให้กับลูกน้องของเรา เพื่อให้เราได้คิดมากขึ้นว่า มันจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องทำในเวลานั้นหรือไม่ หรืออาจจะทำให้เกิดทางออกดีๆ เช่น การพาแฟนมารู้จักกับทีมงานให้เห็นว่าเพื่อนร่วมงานของแฟนเขาเป็นอย่างไร เขาจะได้สบายใจว่า ไม่มีอะไรในกอไผ่จริงๆ เป็นต้น
เพราะลูกน้องของเราคือคนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมกับขับเคลื่อนเป้าหมายของทีมงานและองค์กรให้เดินหน้าไปด้วยกัน การเป็นหัวหน้าที่ใส่ใจ ทั้งชีวิตส่วนตัว และชีวิตการทำงาน จะทำให้ทีมงานของคุณมีความสุขและเข้มแข็ง อย่าลืมว่าก่อนที่เราจะเป็นหัวหน้าที่ยอดเยี่ยมในวันนี้ เราก็เคยเจอปัญหาเหล่านี้มาก่อน ถ้าลูกน้องของคุณกำลังเจอปัญหาเหล่านี้ ก็ขอให้คุณยิ้ม และยอมรับว่า ลูกน้องของคุณกำลังเติบโตสู่การเป็นผู้ใหญ่ คงไม่มีหัวหน้าคนไหนจะภาคภูมิใจกับการที่ทำให้ลูกน้องขึ้นคานกันทั้งทีมใช่ไหมครับ ใครๆ ก็อยากได้หัวหน้าที่เข้าใจเราทั้งนั้นหละครับ…จริงมั๊ย
เพื่อนๆ หละครับ รับมือปัญหานี้ยังไงกันบ้าง ^_^
เป็นกำลังใจให้หัวหน้างานและพนักงานทุกคนครับ
รักทุกคนเสมอครับ
www.peopleone.co.th
Tel : 02-661-7797
E-mail : info@peopleone.co.th