การทดลองงาน (Probation) ปราการสุดท้ายที่ห้ามละเลย
ถ้าคุณเคยรู้สึกกังวลและไม่แน่ใจ ว่าพนักงานใหม่ที่เพิ่งรับเข้ามาจะทำได้อย่างที่พูดหรือไม่ การทดลองงาน คือ เครื่องมือที่คุณห้ามละเลยเป็นอันขาด จงให้ความสำคัญและใส่รายละเอียดจะทำให้คุณจัดการเรื่องนี้ได้แต่หากละเลยอาจจะเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ตามมา
การทดลองงาน (Probation) เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญที่หัวหน้างานและฝ่ายบุคคลควรจะใช้คัดกรองเป็นปราการด่านสุดท้ายก่อนรับพนักงานเข้าสู่การเป็นพนักงานประจำอย่างเต็มตัว ที่จริงแล้วตามกฎหมายแรงงาน ไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ว่า ให้พนักงานใหม่ทดลองงานได้ไม่เกินกี่วัน ดังนั้นบริษัทหลายแห่ง ที่ให้ความสำคัญเรื่องการประเมินผลทดลองงานอาจกำหนดระยะเวลาการทดลองงานได้นานถึง 6 เดือน หรือ 1 ปีก็ทำได้
แต่ที่พบเห็นมากที่สุด มักมีระยะการทดลองงานไม่เกิน 119 วัน เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 (1) กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ในอัตราที่ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน และจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างได้ทราบด้วย หากไม่บอกกล่าวให้ถูกต้องก็ต้องจ่ายค่าตกใจ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องว่าเป็นระยะเวลาในช่วงทดลองงานหรือไม่แต่อย่างใด นายจ้างจึงเลือก 119 วันเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุด หากไม่ใช่ก็แยกย้ายกันไปโดยไม่มีใครบาดเจ็บ
การทดลองงาน (Probation) ควรประเมินผลเรื่องอะไร
โดยหลักแล้วการประเมินการทดลองงาน โดยพื้นฐานควรประเมินความสามารถของพนักงานว่าตรงกับที่สัมภาษณ์ก่อนรับเข้าทำงานหรือไม่ เป็นการยืนยันว่าพนักงานมีความสามารถตามที่แจ้งกับบริษัทไว้จริง นอกจากนี้ ยังมีอีกสองเรื่องที่บริษัทควรพิจารณา คือ
1. ความเข้ากันได้กับวัฒนธรรมองค์กร (Culture Fits) ซึ่งจะเป็นการบ่งบอกว่าพนักงานคนนั้นจะมีความสุขและเหมาะกับสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม และเข้ากับคนอื่นได้ดีในองค์กรของเรามากน้อยเพียงใด
2. ความสามารถในการเรียนรู้ (Learning Curve) เป็นการบ่งบอกว่าพนักงานคนนี้ มีความสามารถในการพัฒนา เรียนรู้เรื่องอื่นๆ ได้ดี รวดเร็วมากน้อยสามารถจะสอนงานให้มอบหมายงานอื่นๆ ต่อยอดได้หรือไม่
การประเมินทดลองงาน (Probation) ควรทำบ่อยแค่ไหน
จากระยะเวลาทดลองงาน 119 วัน การประเมินที่เหมาะสมเพื่อสอนงานและการให้ข้อมูลป้อนกลับ (Coaching and Feedback) คือ การประเมินเมื่อครบ 60 วัน และ 90 วัน โดยมีวัตถุประสงค์ให้พนักงานได้รับทราบว่า ตนเองทำอะไรได้ดีหรือต้องเพิ่มเติมปรับปรุงเรื่องใด ทั้งนี้ หากหัวหน้างานสามารถประเมินได้ทุก 30 วัน และมีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับพนักงาน ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก เพื่อให้พนักงานรับทราบว่า เราให้ความสำคัญกับเรื่องใดบ้าง ทั้งนี้ต้องระมัดระวังหากประเมินเพียงครั้งเดียวตลอดเวลาการทดลองงาน และไม่ผ่านทดลองงาน โดยพนักงานไม่ได้รับทราบเหตุผลหรือไม่มีโอกาสปรับปรุง อาจนำไปสู่ข้อร้องเรียนเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและต้องจ่ายค่าชดเชยได้
สิ่งที่หัวหน้างานควรทำระหว่างรับพนักงานทดลองงาน
1. หัวหน้างานจำเป็นต้องมอบหมายภาระงานที่จะใช้วัดผลการทดลองงานอย่างเป็นรูปธรรม มีการพูดคุยถึงความคาดหวัง วัตถุประสงค์และวิธีวัดผลโดยชัดเจน อย่าปล่อยผ่านไปวัน ๆ โดยไม่มีผลลัพธ์ออกมาโดยเด็ดขาด เพราะนั่นจะทำให้พนักงานเข้าใจว่า ตนเองปฏิบัติหน้าที่ได้ดีแล้ว
2. หมั่นทำ After Action Review (AAR) เป็นประจำ เพื่อแนะนำพนักงานว่า สิ่งใดทำได้ดีแล้วและสิ่งใดยังทำได้ไม่ดี
3. สอนงานด้วยความเมตตา ให้คำแนะนำอย่างจริงใจและเห็นพนักงานเป็นส่วนหนึ่งของทีม
4. ทำความรู้จักพนักงานทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวในขอบเขตที่พนักงานเปิดเผยได้ เช่น พนักงานชอบรับประทานอะไร ไม่รับประทานอะไร พักอาศัยอยู่กับใคร ใช้เวลาว่างกับเรื่องอะไร เพื่อให้หาจุดร่วมในการเชื่อมต่อ ที่จะไปร่วมกิจกรรมนอกงานระหว่างกันได้ ซึ่งจะเป็นการละลายพฤติกรรม และเสริมสร้างความเป็นส่วนหนึ่งของทีม ซึ่งจะส่งผลต่อผลการปฏิบัติงานโดยตรง
ข้อควรระวังระหว่างรับพนักงานทดลองงาน
1. งานที่มอบหมายไม่มีการวัดผลชัดเจน เป็นการทำงานไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการให้ข้อมูลย้อนกลับว่าสิ่งที่พนักงานทำนั้น เรียกว่าทำได้ดีหรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งเรื่องอื่นๆ และทำให้การประเมินผลทดลองงานคลาดเคลื่อนไม่สามารถวัดผลได้
2. การให้ผ่านทดลองงานไปก่อน แม้ว่าประสิทธิภาพไม่ถึงเกณฑ์หรือเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรไม่ได้ ความชัดเจน ตรงไปตรงมา เป็นเรื่องสำคัญ หากไม่ผ่านต้องไม่ดันทุรัง เพราะการให้ผ่านทดลองงานแม้ว่าจะไม่มีประสิทธิภาพ จะทำให้เกิดปัญหาในการทำงานของทีม นอกจากจะไม่ได้ประสิทธิภาพของคนใหม่ ยังทำให้คนเก่าเสียกำลังใจเพราะภาระงานต้องตกไปที่เขาอยู่ดี นอกจากนี้ การเลิกจ้างพนักงานหลังจากผ่านทดลองงาน ยังอาจนำไปสู่ข้อพิพาทแรงงานที่ทำให้เสียภาพลักษณ์อีกด้วย
ส่งท้าย
การประเมินผลทดลองงาน เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่หัวหน้างานจำเป็นต้องออกแบบ และวัดผลติดตาม เพื่อให้องค์กรได้พนักงานที่มีประสิทธิภาพ และคัดกรองคนด้อยประสิทธิภาพออกไป อีกทั้งเป็นการบริหารกำลังใจทีมงาน ไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ หรือมีความขัดแย้งเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน เพราะการเพิ่มพนักงานที่ด้อยประสิทธิภาพเข้ามาในทีม อาจทำให้เสียการปกครอง และไม่ยุติธรรมสำหรับพนักงานที่ดีอีกด้วย ดังนั้น การประเมินผลทดลองงานจึงเปนเรื่องที่หัวหน้างาน ละเลยไม่ได้เป็นอันขาด และต้องระมัดระวังในการประเมินผลเพราะสามารถส่งผลร้ายในระยะยาวกับองค์กรได้
องค์กรของคุณหละ จริงจังกับการประเมินผลทดลองงานแล้วหรือยัง???
รักทุกคนเสมอครับ
www.peopleone.co.th
Tel : 02-661-7797
E-mail : info@peopleone.co.th